Support & Resistrance
แนวรับ-แนวต้านในมุมมองด้านเทคนิค
จากสมมติฐานการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวขึ้นหรือลง เกิดจากความแตกต่างระหว่างความต้องการซื้อหุ้นและความต้องการขายหุ้นของคนในตลาด ถ้าช่วงใดความต้องการซื้อหุ้นของคนในตลาดมากกว่าความต้องการขายหุ้นจะส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แต่ถ้าช่วงใดมีความต้องการขายของคนในตลาดมากว่าความต้องการซื้อราคาหุ้นก็จะปรับตัวลง
แนวรับ=ระดับราคาที่มีความต้องการซื้อมาก
คำนิยามของแนวรับ คือ ระดับราคาที่ต่ำกว่าราคาในปัจจุบัน ที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการซื้อเข้ามาอย่างมากหรือมีคนสนใจซื้อเป็นจำนวนมาก ถ้าความต้องการซื้อมีเข้ามาที่ระดับราคาที่เป็นแนวรับจำนวนมากพอ ก็จะสามารถหยุดไม่ให้ราคาปรับตัวลดต่ำลงไปกว่าระดับราคาแนวรับ และ“อาจจะ”ทำให้ราคาที่กำลังปรับตัวลดลงเกิดการกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้น โดยการหาแนวรับนิยมหาตอนที่ราคากำลังปรับตัวลดลง
รูปตัวอย่างอธิบายนิยามของแนวรับเป็นระดับราคาที่มีคนต้องการซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก
แนวรับเป็นความหมายในเชิงจิตวิทยา
- ลองจิตนาการตามตัวอย่างนี้ดูครับ….
มีหุ้นตัวหนึ่งกำลังปรับตัวลดลง และสนใจอยากซื้อหุ้นตัวนี้ ปรากฎว่าหุ้นตัวนี้ปรับตัวลดลงมาต่ำสุดที่ราคา 5 บาท แล้วราคากลับดีดตัวสูงขึ้น โดยที่เรายังไม่ทันได้ซื้อหุ้นตัวนั้นเลย และราคาก็ยังปรับตัวสูงขึ้นไปอีกจนทำใจซื้อไม่ลง
สมมุติว่าเวลาต่อมาราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลงมาแถว ๆ 5 บาทอีกครั้งสิ่งที่คุณอยากจะทำคืออะไร ?
จากตัวอย่างข้างต้นคนส่วนใหญ่มักจะตอบว่า เมื่อราคาหุ้นตัวนี้ปรับตัวลดลงมาใกล้ ๆ กับ 5 บาทอีกครั้ง ก็จะมีความรู้สึกอยากซื้อหุ้นตัวนี้ เนื่องจากครั้งที่แล้วเราพลาดโอกาสซื้อหุ้นตัวนี้ไป แถมราคานี้ก็เป็นราคาที่ต่ำที่สุดก่อนหน้านี้อีกด้วย จึงไม่อยากจะพลาดโอกาสในการซื้ออีกเป็นครั้งที่ 2
ดังนั้นถ้าราคาหุ้นกลับลดต่ำลงมาที่ 5 บาทจริง ก็จะมี “ความต้องการซื้อ” เป็นจำนวนมากเหมือนกับมีกำแพงหนา ๆ ที่มากั้นไม่ให้ระดับราคาลดต่ำลงไปกว่านี้ ในเชิงจิตวิทยานักเทคนิคจึงสรุปว่าที่ระดับราคาประมาณ 5 บาทเป็นระดับราคาที่เราเรียกว่า แนวรับ
ความจริงแล้วไม่ใช่มีคนกลุ่มเดียวที่พลาดการซื้อหุ้นที่ราคา 5 บาทในครั้งก่อน แต่ยังมีอีกกลุ่มคนหนึ่งคือ พวกที่ขายหุ้นไปราคากแถว ๆ 5 บาทในครั้งที่แล้ว เมื่อขายหุ้นออกไปแล้วราคากลับปรับตัวสูงขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะมีความรู้สึกว่าต้วเองขายหุ้นราคาถูกเกินไป เมื่อราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงมาที่บริเวณใกล้ 5 บาทอีกครั้ง ก็จะเป็นระดับราคาที่กลุ่มนี้มีโอกาสได้ซื้อหุ้นคืน
ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มคนที่ยังไม่เคยสนใจ หรือไม่เคยซื้อขายหุ้นตัวนี้มาก่อน แต่เพิ่งเริ่มเข้ามาสนใจหุ้นตัวนี้ในเวลาต่อมา ก็จะใช้ข้อมูลของราคาหุ้นในอดีต คือ ระดับราคาใกล้ ๆ บริเวณ 5 บาท เป็นราคาที่น่าสนใจเข้าซื้อหุ้นได้อีก
แนวต้าน=ระดับราคาที่มีคนต้องการขายมาก
แนวต้านในมุมมองของการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะมีความหมายกลับกันกับแนวรับ ซึ่งคำนิยามของแนวต้าน คือ ระดับราคาที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน ที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการขายเข้ามาอย่างมาก หรือมีคนสนใจขายเป็นจำนวนมาก ถ้าความต้องการขายมีเข้ามาจำนวนมากพอจะสามารถหยุดไม่ให้ราคาเพิ่มขึ้นไปมากกว่าระดับราคาที่เป็นแนวต้าน และ“อาจจะ”ทำให้ราคาที่กำลังปรับตัวสูงขึ้นกลับตัวจากขาขึ้นเป็นขาลง โดยการหาแนวต้านนิยมหาตอนที่ราคากลับปรับตัวสูงขึ้น
แนวต้านก็เป็นความหมายเชิงจิตวิทยา
ลองจินตนาการกันอีกสักรอบ…
ถ้าเราถือซื้อหุ้นตัวหนึ่งได้ในราคา 10 บาท หลังจากนั้นราคาขยับปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ จนหยุดที่ราคา 15 บาท แล้วราคาก็กลับตัวลดต่ำลง โดยที่เรายังไม่ได้ขายหุ้นออกไป
สมมติว่าถ้าหุ้นมีการปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ไปถึงบริเวณใกล้ ๆ 15 บาท สิ่งที่คุณอยากจะทำคืออะไร?
จากคำถามข้างต้นคำตอบของคนส่วนใหญ่ คือ ขายหุ้นออกไปที่ระดับราคา 15 บาทหรือต่ำกว่า 15 บาทเล็กน้อยก็ยังอยากขายอยู่ เพราะเราเคยพลาดโอกาสในการขายหุ้นตอนที่ขึ้นไปที่ 15 บาทในครั้งแรก
ดังนั้นก็จะมีคนจำนวนมากจะแห่กันออกมาเทขายหุ้นที่ระดับราคานี้ ทำให้เกิด “ความต้องการขาย”เป็นจำนวนมาก ซึ่งเปรียบเสมือนกับเป็นกำแพงหนา ๆ ที่พยายามกั้นไม่ไห้ราคาสูงขึ้นไปกว่าระดับราคานี้เราจึงสรุปว่าที่ระดับราคาประมาณ 15 บาทเป็นระดับราคาที่เราเรียกว่า แนวต้าน
ความจริงแล้วไม่ใช่มีคนกลุ่มเดียวที่พลาดการขายหุ้นที่ราคา 15 บาทในครั้งก่อน แต่ยังมีอีกกลุ่มคนหนึ่งคือ พวกที่ซื้อหุ้นไปในราคากแถว ๆ 15 บาทในครั้งก่อนหน้า เมื่อซื้อหุ้นแล้วราคากลับปรับตัวลดลง คนกลุ่มนี้ก็จะมีความรู้สึกว่าต้วเองซื้อหุ้นแพง หรือติดดอยนั่นเอง เมื่อราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมาที่บริเวณใกล้ 15 บาทอีกครั้ง ก็จะเป็นระดับราคาที่กลุ่มคนเหล่านี้อยากจะขายหุ้นทิ้ง เพราะเป็นราคาที่ไม่ขาดทุนแล้ว
แนวรับ-แนวต้าน มีหน้าตากราฟเป็นยังไง ?
รูปแบบกราฟทั้งหมด 5 รูปแบบที่ส่งผลในเชิงจิตวิทยาของคนที่เข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาด ทำให้รูปแบบกราฟทั้ง 5 นี้น่าสนใจพิจารณาเป็นแนวรับ-แนวต้าน ได้แก่
1 จุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดก่อนหน้า (Previous High & Previous Low)
2 เส้นแนวโน้ม เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Trend Line, Moving Average)
3 ระดับราคาที่มีการเคลื่อนที่ในแนวราบ (Horizontal Consolidation Region)
4 ตัวเลขกลม ๆ (Round Number)
5 สัดส่วน Fibonacci (Fibonacci Ratio)